ตลาดซื้อขายนักเตะ : 10 ขั้นตอนก่อนนักฟุตบอลจะได้ย้ายทีม

ในตอนนี้ถึงช่วงเวลาที่ตลาดนักเตะเปิดขึ้นแล้ว และบรรดาทีมต่าง ๆ ก็พากันกระโดดเข้าสู่วงจรการซื้อ-ขายกันแทบทั้งนั้น แน่นอนว่ากว่าที่จะปิดดีลกันได้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะว่าแต่ละทีมก็ต้องพยายามทำการบ้านกันอย่างหนักเกี่ยวกับนักเตะที่พวกเขาสนใจ

สำหรับขั้นตอนที่จะซื้อผู้เล่นสักคนหนึ่งเข้าสู่ทีม มันก็ต้องมีความละเอียดกันบ้าง โดยเริ่มต้นจากการ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเตะ, ส่งทีมงานไปสเกาท์, เช็กความสามารถ, จัดวางงบประมาณ รวมไปถึงรอฟังข่าวจากสื่อว่าต้นสังกัดของนักเตะมีข่าวยังไง และตัวนักเตะเองมีข่าวอะไรออกมาบ้าง

10 ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อจะซื้อผู้เล่นหน้าใหม่

1) ส่งทีมแมวมองไปซุ่มดูฟอร์ม

ทีมงานแมวมองของสโมรถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพวกเขาเหล่านี้จะเป็นผู้ที่เลือกนักเตะที่ดีเข้าสู่ทีม แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะนักเตะระดับโลกเท่านั้นที่จะซุ่มดูฟอร์มได้ แต่ว่าทีมงานแมวมองสามารถไปเลือก และมองหานักเตะได้ตั้งแต่ระดับเยาวชน หรือการแข่งขันในระดับท้องถิ่นที่มีเด็ก ๆ ไปร่วมแข่งขันเพื่อหาเพชรเม็ดงามเข้าสู่ทีม

เมื่อทีมงานแมวมองได้เล็งนักเตะเอาไว้แล้วสักคนหนึ่ง จากนั้นพวกเขาจะดำเนินการต่อทันทีโดยส่งโปรไฟล์นักเตะให้กับสโมสร ก่อนที่จะทำตัวเข้าไปตีสนิทกับนักเตะรวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาเพื่อโน้มน้าวจิตใจให้ผู้เล่นคนนั้น ๆ อยากจะย้ายเข้าสู่ทีม แน่นอนว่าขั้นตอนนี้มันช่างสำคัญจริง ๆ

2) การยื่นข้อเสนอ

เมื่อทางสโมสรแน่ในแล้วว่าต้องการที่จะได้ตัวผู้เล่นคนนี้มาร่วมทีมแน่ ๆ ขั้นตอนต่อไปก็คือการยื่นข้อเสนอให้กับสโมสรต้นสังกัดของนักเตะได้พิจารณา โดยทางผู้เจรจาในส่วนฝ่ายซื้อขายก็ต้องทำเรื่องขึ้นมาแล้วทำการส่งแฟกซ์ไป อย่างในกรณีของ ลิเวอร์พูล ผู้ที่ดำเนินการเรื่องการซื้อ-ขายนักเตะก็จะเป็น เอียน อาร์ย ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็จะเป็น เอ็ด วู้ดเวิร์ด

ซึ่งขั้นตอนนี้ก็อยู่ที่ว่าทางสโมรต้นสังกัดของนักเตะจะพอใจในตัวเลขหรือไม่ ซึ่งหากไม่พอใจก็ต้องยื่นไปใหม่ ทว่าหากพอใจแล้วสโมสรก็สามารถเข้าเจรจากับนักเตะที่หมายตาเอาไว้ได้ทันที

3) เข้าเจรจาสัญญา

หลังจากตกลงเรื่องค่าตัวกับต้นสังกัดของนักเตะได้ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาสัญญาส่วนตัวระหว่างทีมที่จะซื้อกับตัวนักเตะเอง ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ต้องดูว่าผู้เล่นที่จะนำเข้าสู่ทีมอยู่ในระดับไหน หากเป็นเยาวชนก็คุยกับครอบครัวของเขา แล้วเจรจากัน ทว่าหากเป็นในกรณีผู้เล่นซีเนียร์ก็ต้องเจรจากันเองเพื่อหาความลงตัวที่ทั้งสองฝ่ายต่างโอเค

ดิมิทรี่ ปาเย่ต์ ย้ายมอยู่กับ เวสต์แฮม

ดิมิทรี่ ปาเย่ต์ ย้ายมาร่วมทีม เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

4) การต่อรอง

 แน่นอนว่าในการเจรจาทุก ๆ อย่างมันก็ต้องมีการต่อรองกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งการต่อรองนั้นมันก็ต้องขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะด้วย ช่วงแรกกาเจรจาเบื้องต้น ต่อด้วยการเจรจาขั้นสูง และการดำเนินการเจรจา และปิดการเจรจา ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายนี้ก็จะเกี่ยวเนื่องกับทุกบุคคลทั้ง ตัวนักเตะ, เอเย่นต์, ผู้จัดการทีม รวมไปถึงประธานสโมสร

5) ความต้องการของนักเตะ

การย้ายทีมของผู้เล่นไม่ใช่ว่าพอทั้งสองสโมสรตกลงค่าตัวกันได้แล้ว หรือเจรจาสัญญากันได้แล้ว นักเตะจะย้ายทีมง่าย ๆ เพราะว่าหากตัวของนักเตะเองไม่พอใจที่จะย้ายไปในสโมสรนั้น ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะงอแงขอไม่ย้ายไปก็ได้ เพราะว่าในแต่ละดีลการซื้อขายมักจะมีหลายทีมยื่นข้อเสนอให้กับนักเตะอยู่แล้ว อย่างในเคสของ เจมส์ มิลเนอร์ ที่ย้ายทีมได้แบบฟรี ๆ ก็มีหลายทีมยื่นข่้อเสนอให้เขาพิจารณา ทว่าเจ้าตัวกลับเลือก ลิเวอร์พูล ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แต่ที่เลือกเพราะว่าเป็นความต้องการส่วนตัว

6) เอเย่นต์ส่วนตัวนักเตะ

เอเย่นต์ส่วนตัวนักเตะ คือผู้ที่คอยดูแลผลประโยชน์ให้กับนักเตะในสังกัดของเขา อารมณ์ก็ประมาณผู้จัดการส่วนตัวของเหล่าดาราบ้านเรานั่นแหละ ซึ่งเมื่อมีทีมต้องการนักเตะทางเอเย่นต์ก็จะเข้าไปเป็นผู้ประสานงานในการเจรจาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ในแต่ละครั้งไม่ใช่เพียงสโมสรต้นสังกัดหรือนักเตะที่ได้ตังค์ ทว่าทางเอเย่นต์เองก็ได้ไม่น้อยเหมือนกันล่ะ มันจึงมีข่าวบ่อย ๆ ว่าเอเย่นต์เล่นแง่บ้างล่ะ เอเย่นต์งกบ้างล่ะ เอเย่นต์เป็นตัวถ่วงเรื่องการเซ็นสัญญาหรือคอยเป่าหูนักเตะบ้างล่ะ อย่างในกรณีของ ราฮีม สเตอร์ลิง เป็นต้น

7) สื่อมวลชน

เมื่อช่วงตลาดนักเตะมาถึง แน่นอนว่าคือช่วงเวลาที่สื่อหลาย ๆ สำนัก ต่างพากันหาข่าว และเล่นข่าวกันอย่างเมามัน ซึ่งสื่อเข้ามามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการซื้อขายเนื่องจากว่าการตีข่าวหรือการเล่นข่าวนั้นเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นดีลนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง บางครั้งค่าตัวของนักเตะคนหนึ่งอาจจะแค่ 5 ล้านปอนด์ แต่พอสื่อเล่นข่าวมาก ๆ ก็อาจจะทะลุถึง 10 ล้านปอนด์ ได้ไม่ยาก

มาร์ติน มอนโตย่า ย้ายจาก บาร์ซ่า สู่ อินเตอร์ มิลาน

8) การตรวจร่างกาย และ ใบอนุญาติทำงาน

เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นลงในขั้นตอนการเจรจา แน่นอนว่าขั้นตอนต่อมาก็คือการตรวจร่างกายของนักเตะว่าจะพร้อมหรือไม่ที่จะลงสนามให้กับต้นสังกัดใหม่ อย่างในรายของ โลอิค เรมี่ ที่เคยเกือบจะลงเอยกับ หงส์แดง ทว่าในขั้นตอนการตรวจร่างกายกลับไม่ผ่าน เช่นเดียวกับเรื่องใบอนุญาติทำงานโดยเฉพาะนักเตะที่เป็นผู้เล่นนอกเขต EU ก็จะต้องมีใบอนุญาติทำงานด้วย ซึ่งหากการขอใบนี้ไม่ผ่านก็เท่ากับว่าต้องยกเลิกการย้ายทีม

9) ดราม่า

ในช่วงวันปิดการขายวันสุดท้ายมักจะมีเหตุการณ์ดราม่าเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพราะว่าหลาย ๆ สโมสรบางทีก็ตัดสินใจจะซื้อ-จะขายเอาวันสุดท้าย อย่างในกรณีของ แกเร็ธ แบร์รี่ ตอนที่ เอฟเวอร์ตัน ยืมมาใช้งานทาง แมนฯ ซิตี้ เองก็เล่นตัวอยู่นานกว่าจะยอมปล่อย แต่เมื่อได้ตัวตายตัวแทนในตำแหน่ง ๆ นั้น ๆ มาร่วมทีมทุกอย่างก็โอเค

หรีอจะเป็นตอนที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่สามารถหานักเตะมาร่วมทีมได้เลย และก็ไปได้ตัว มารูยาน เฟลลายนี่ มาร่วมทีมในวันสุดท้ายพอดี ซึ่งค่าตัวก็ถูกชาร์จเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า

10) ปิดจ๊อบ 

ทุกอย่างจบสิ้นเสียที!! เมื่อทั้งการเจรจา การต่อรอง การพูดคุยกับเอเย่นต์ การตรวจร่างกาย และใบอนุญาติทำงาน รวมไปถึงความพึงพอใจในการย้ายทีมของนักเตะ เมื่อทุกอย่างลงตัวก็ ปิดจ๊อบ!!

ถึงเวลาที่นักเตะของคุณจะได้เอนจอยกับชีวิตใหม่ในทีมของคุณ และสีเสื้อใหม่ของเขาเอง จากนี้ไปก็แค่รอดูผลงานว่าเขาจะทำได้อย่างที่คุณหวังรึเปล่า เท่านั้นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก mirror.co.uk

ภาพข่าว: 

facebook.com/Inter

facebook.com/Galatasaray

facebook.com/Arsenal

facebook.com/ThailandLiverpoolFC

facebook.com/westhamunitedofficial

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตลาดซื้อขายนักเตะ : 10 ขั้นตอนก่อนนักฟุตบอลจะได้ย้ายทีม อัปเดตล่าสุด 6 กรกฎาคม 2558 เวลา 14:17:46 18,520 อ่าน
TOP