พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา ในหลวงรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานของขวัญอันยิ่งใหญ่หลากหลายด้านให้กับปวงชนชาวไทย ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพอันหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ด้านดนตรี, ด้านการถ่ายภาพ, พระปรีชาสามารถด้านการช่าง, ด้านจิตรกรรม และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย และแน่นอนว่าพระปรีชาสามารถด้านกีฬาของพระองค์ท่าน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ปวงชนชาวไทยจดจำไว้ในหัวใจไม่รู้ลืม

ทรงสนพระราชหฤทัยในการเล่นกีฬาหลากหลายประเภท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการเล่นกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โปรดกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำแข็ง, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เทนนิส, แบดมินตัน และ เครื่องร่อน โดยทรงเล่นกีฬาเหล่านี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา

ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของ โอลิมปิก คือ "อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2534

พระปรีชาสามารถด้านกีฬาเรือใบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์ท่านโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว เรือใบของพระองค์จะทรงต่อด้วยพระองค์เอง และจะทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า "ราชปะแตน" และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอ เค ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า "นวฤกษ์"

ซึ่งเรือ "นวฤกษ์" นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬา แหลมทอง ครั้งที่ 4 นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้นออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก พระราชทานชื่อว่า "เรือใบแบบมด" ทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี" ต่อมาทรงพัฒนา "เรือแบบมด" ขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ "แบบซูเปอร์มด" และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ "แบบไมโครมด" ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภท โอ เค พระราชทานชื่อเรือว่า "VEGA" หรือ เวคา (ชื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่สุกสว่างมาก) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินด้วยลำพังพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือ สโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่าง ๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ

พระปรีชาสามารถด้านกีฬาแบดมินตัน

กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดปรานมากเมื่อครั้งที่พระราชภารกิจยังไม่มากมายเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงนิยมเล่นหลายประเภท ทั้งประเภทคู่และประเภทสามคน ในช่วงเวลานั้น กีฬาแบดมินตันของประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถที่จะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป

จึงได้ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้กับ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2493 พระองค์ท่านทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาโดยแท้ คือไม่ทรงแสดงอาการกริ้ว หรือพิโรธอย่างใดเมื่อทรงลูกเสียหรือแม้กระทั่ง ผู้ที่ถวายตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งถึงพระวรกาย จากความเข้มข้นในเกมการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นว่าทรงเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง

ทรงร่วมแข่งขันกีฬาแหลมทอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ปัจจุบัน คือ กีฬาซีเกมส์) ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9 ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 โดยทรงลงแข่งขันในกีฬาเรือใบประเภท โอ เค ซึ่งเป็นเรือที่ทรงต่อเอง ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์โต ทรงร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยคนหนึ่ง ทรงซ้อมและเก็บตัวเหมือนนักกีฬาทั่วไป

และทรงชนะเลิศการแข่งขันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม โดยทรงขึ้นรับเหรียญทองบนแท่นเหมือนนักกีฬาทั่วไป ในพิธีปิด ณ สนามศุภชลาศัย ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ นอกจากนี้แล้วยังทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4, 8 และ 13 ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

พระมหากรุณาธิคุณกับวงการมวย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหากรุณาธิคุณกับวงการมวยมาโดยตลอด โดยจะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทอดพระเนตรการชกของนักมวยไทยกับนักมวยต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง เช่น การชกระหว่าง โผน กิ่งเพชร กับ ปาสคาล เปเรซ นักมวยชาวอาร์เจนตินา เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 ณ สนามมวยเวทีลุมพินี ซึ่งผลการชก โผนสามารถเอาชนะคะแนน เปเรซ ไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกเป็นคนแรกของไทย

หรือเมื่อครั้งที่ ชาติชาย เชี่ยวน้อย ได้ครองแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 2 ด้วยการเอาชนะ แอฟเฟรน ทอร์เรส นักมวยชาวเม็กซิกัน เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2513 ณ สนามกีฬากิตติขจร (ปัจจุบันคือ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก) และเมื่อครั้งที่ แสน ส.เพลินจิต เดินทางไปป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการเอาชนะน็อก ฮิโรกิ อิโอกะ ไปได้ในยกที่ 10 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2538 หลังการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระราชสาส์นผ่านทางกงสุลไทย ณ เมืองโอซากา ความว่า พระองค์ทอดพระเนตรการชกของแสนอยู่ผ่านทางโทรทัศน์ ทรงชมว่า แสน ชกได้ดี ยังความปลาบปลื้มแก่ แสน และคณะเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้แล้ว เมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ ชนะเลิศในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเฟเธอร์เวท ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2539 ก่อนชกในรอบชิงชนะเลิศ สมรักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะคว้าชัยชนะให้ได้เพื่อนำเหรียญทองกลับไปร่วมสมโภชเป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปีด้วย และเมื่อ สมรักษ์ สามารถเอาชนะได้ และได้ครองเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งแรกของนักกีฬาไทย สมรักษ์ ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯถวายเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

พระมหากรุณาธิคุณทั่วไปในวงการกีฬา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการกีฬาของชาติอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นการที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, พระราชทานทุนนักกีฬา และพระราชทานไฟพระฤกษ์ นอกเหนือจากการเอาพระทัยใส่ และทรงอุปถัมภ์การกีฬาหลายประเภทแล้ว ยังปรากฏพระราชกรณียกิจหลายประการอันเป็นคุณประโยชน์ และเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งแก่วงการกีฬา และนักกีฬาชาวไทยชั่วกาลนาน

ข้อมูล และภาพจาก th.wikipedia.org, chiangmai-mail.com

คลิปจาก prapog สมาชิกเว็บไซต์ youtube.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา ในหลวงรัชกาลที่ 9 อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2559 เวลา 16:28:44 11,788 อ่าน
TOP