
ภาพ AFP
นับถอยหลังอีกเพียงแค่ 10 วัน ศึก ฟุตบอลโลก "ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ บราซิล 2014" ก็จะได้ฤกษ์เปิดฉากขึ้น ขุนพลทีม "เจ้าภาพ" แซมบ้า จะลงเล่นนัดเปิดสนามกับ โครเอเชีย ในช่วงดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ 12 ต่อเช้าวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน ในเวลา 03.00 น.
ศึกชิงแชมป์โลกหนนี้นับเป็นครั้งที่ 20 หลังจากถือกำเนิดขึ้นหนแรกในปี 1930 ที่อุรุกวัย ซึ่งนับเป็นเวลาได้กว่า 80 ปีแล้ว การแข่งขันแต่ละครั้งมีเรื่องราวเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ เกมการเล่นและรูปแบบการแข่งขันในแต่ละยุคสมัยต่างก็มีพัฒนาการเกิดขึ้น นวัตกรรมใหม่ๆ ถูกนำมาใช้ บางครั้งเกิดเหตุการณ์ประเด็นข้อถกเถียง ความขัดแย้ง จนกลายเป็นประวัติศาสตร์คู่ขนานไปพร้อมกับประวัติศาสตร์โลก
และนี่คือเรื่องราวน่าสนใจจากศึก ฟุตบอลโลก ตั้งแต่ 1930 ที่อุรุกวัย จนถึง 2014 ที่บราซิล
1930 อุรุกวัย
ปฐมบทของการแข่งขันฟุตบอลโลก มีทีมตัวแทนจาก 13 ชาติเข้าร่วมแข่งขัน 7 ทีมจากอเมริกาใต้ 2 ทีมจากอเมริกาเหนือ และ 4 ทีมจากยุโรป
ความจริงในสมัยนั้นเกมฟุตบอลในยุโรปถือว่ากำลังเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ แต่สาเหตุที่มีทีมยุโรปมาร่วมด้วยแค่ 4 ทีม เป็นเพราะปัญหาเรื่องการเดินทางที่ยังต้องใช้การสัญจรทางเรือเพราะอุตสาหกรรมการบินยังไม่ได้ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้
เหตุการณ์น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของ เวิลด์ คัพ 1930 ก็คือ มีการบันทึกไว้ว่าในเกมชิงชนะเลิศ คู่ชิงซึ่งก็คือ "เจ้าภาพ" อุรุกวัย กับ อาร์เจนตินา เกิดตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ลูกบอลของทีมไหนในการแข่งขัน ผลก็คือทั้งสองฝ่ายต้องถอยคนละก้าว เอาลูกบอลมา 2 ลูกของแต่ละทีมแบ่งใช้แต่ละครึ่งเวลา ครึ่งแรกใช้ของ อาร์เจนตินา และครึ่้งหลังใช้ของ อุรุกวัย
1934 อิตาลี
การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกบนแผ่นดินยุโรป ซึ่งคราวนี้มีทีมร่วมแข่งขันในรอบสุดท้าย 16 ทีม แต่ระบบการแข่งขันมีการปรับเปลี่ยนไม่มีรอบแบ่งกลุ่ม แต่ใช้การเล่นแบบน็อกเอาต์ตั้งแต่รอบแรก จนถึงนัดชิงชนะเลิศ
และเนื่องจากในตอนนั้นยังไม่มีการนำการต่อเวลาพิเศษและดวลจุดโทษมาใช้ เมื่อเกมจบลงด้วยผลเสมอ การตัดสินผู้ชนะจึงมีวิธีเดียว คือให้ทั้งสองทีมมาเตะกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น
1938 ฝรั่งเศส
ฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 เกิดกระแสความไม่พอใจจากการที่ ฟีฟ่า ให้สิทธิ์ชาติจากยุโรปได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นหนที่ 2 ติดต่อกัน นั่นทำให้ อุรุกวัย กับ อาร์เจนตินา สองยอดทีมในยุคนั้น ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการแข่งขัน เหลือ บราซิล เป็นตัวแทนจากอเมริกาใต้เพียงแค่ทีมเดียว
ในปีนี้ สเปนพลาดเข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากเกิดเหตุความไม่สงบภายในประเทศ และทำให้ "กระทิงดุ" เป็นชาติแรกที่อดมาเล่นฟุตบอลโลกเพราะภาวะสงคราม
1942 - 1946 ฟุตบอลโลกงดจัดแข่งขันเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2
1950 บราซิล
การแข่งขันครั้งแรกหลังสงครามโลกผ่านไป หลายประเทศในยุโรปยังคงอยู่ในช่วงของการกอบกู้สภาพบ้านเมืองที่มีแต่ซากความเสียหาย นั่นทำให้ ฟีฟ่า เจอกับปัญหาในการหาชาติที่จะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากแต่ละประเทศต่างก็กังวลว่าถ้าเอาเงินงบประมาณมาจัดบอลโลก ประชาชนของตัวเองคงจะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านเพราะไม่พอใจกับการเองเงินไปถลุงเล่น
ใน เวิลด์ คัพ หนนี้ เยอรมนี กับ ญี่ปุ่น ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ อิตาลี กับ ออสเตรีย ซึ่งอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม ด้วยไม่โดนแบนไปด้วย และอิตาลีก็ได้ลงเล่นในฐานะแชมป์เก่า
1954 สวิตเซอร์แลนด์
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ใช้ระบบการแข่งขันที่แปลกประหลาด และคงไม่มีการนำกลับมาใช้อีกแล้ว 16 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย การแข่งขันรอบแรกมีการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีทีมวาง 2 ทีม และทีมที่ไม่ได้เป็นทีมวางอีก 2 ทีม ที่ว่าแปลกประหลาดก็คือ แต่ละทีมในกลุ่มไม่ได้ลงเล่นแบบพบกันหมด แต่จะให้ทีมวางลงเล่นกับทีมที่ไม่ได้เป็นทีมวาง เท่ากับทุกทีมจะเล่นแค่ 2 เกม แล้วนับคะแนนเอา 2 ทีมเข้ารอบต่อไป
1958 สวีเดน
นี่เป็นการแข่งขันที่ ที่รวมชาติจาก สหภาพโซเวียต มาแบบครบครันเป็นครั้งแรก โดยโซเวียตพี่ใหญ่นำ เชโกสโลวาเกีย, ฮังการี และ ยูโกสลาเวีย มาปะทะกับชาติที่ได้ชื่อว่าต้นกำเนิดแห่งฟุตบอล อังกฤษ, ไอร์แลนด์เหนือ, สกอตแลนด์ และ เวลส์ ที่ได้เข้ารอบมาเล่นพร้อมๆ กันเป็นครั้งแรกเช่นกัน
1962 ชิลี
การแข่งขันที่มีการยิงประตูเฉลี่ยน้อยที่สุด แค่ 2.78 ลูกต่อเกม เป็นครั้งแรกของฟุตบอลโลก ที่ค่าเฉลี่ยการยิงประตูต่ำกว่า 3
ย้อนกลับไป 2 ปีก่อนถึงการแข่งขัน ชิลี ประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่รุนแรงถึง 9.5 แมกนีจูด ซึ่งถูกบันทึกเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในโลก สภาพของประเทศชิลีในตอนนั้นมีแต่ซากปรักหักพังเต็มไปทั่วทุกหัวระแหง อย่างไรก็ตาม คาร์ลอส ดิตต์บอร์น ประธานจัดการแข่งขัน เวิลด์ คัพ 1962 ตัดสินใจที่จะเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไป โดยคำพูด "เพราะเราไม่เหลืออะไรอีกแล้ว เราจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้มันขึ้นมา" กลายเป็นคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการของทัวร์นาเมนต์
ความทุ่มเทของ ดิตต์บอร์น ถือว่าคุ้มค่า ชิลีสามารถเดินหน้าบูรณะสนามแข่งขันและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้เรียบร้อยทันกำหนดเวลา โดยที่สมัยนั้นยังไม่ได้มีความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติอย่างเป็นรูปแบบอย่างในยุคนี้ น่าเสียดาย ตัวของ ดิตต์บอร์น เอง ได้เสียชีวิตลง 1 เดือนก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น
1966 อังกฤษ
"วิลลี่" มัสค็อตต์ ประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 กลายเป็นมัสค็อตต์ตัวแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก และนี่ก็เป็นครั้งเดียวที่อังกฤษคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ
หนึ่งในเหตุการณ์ที่โด่งดังไม่แพ้ลูกยิงเจ้าปัญหาของ เจฟฟ์ เฮิร์สท์ ก็คือเหตุการณ์ที่ เจ้าสุนัข "ปิคเคิ่ลส์" กลายเป็นฮีโร่นอกสนามเมื่อมันเป็นผู้พบถ้วย จูลส์ ริเมต์ ที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไปก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น
1970 เม็กซิโก
ในปีนี้เกมชิงชนะเลิศกลายเป็นการชิงถ้วย จูลส์ ริเมต์ เมื่อ คู่ชิงเป็นการโคจรมาพบกันของ บราซิลกับอิตาลี ซึ่งต่างก็มีดีกรีแชมป์ 2 สมัยทั้งคู่
ผลที่ออกมาก็คือขุนพล "แซมบ้า" บราซิลที่นำโดย คาร์ลอส อัลแบร์โต้ เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้ถ้วยไปครอง พร้อมกับการทีมทีมชาติบราซิลชุดที่เต็มไปด้วยยอดขุนพลอย่าง เปเล่, แกร์สัน, แจร์ซินโญ่, ริเวลิโน่ และ ทอสเทา ถูกยกให้เป็นทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก
ฟุตบอลโลกที่เม็กซิโกหนนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่กติกาใบแดงถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก แต่ตลอดทัวร์นาเมนต์ก็ไม่มีนักเตะคนไหนโดนใบแดงไล่ออก
1974 เยอรมนันตะวันตก
การแข่งขันครั้งแรกที่ ถ้วยชนะเลิศ ฟีฟ่า ถูกนำมาใช้แทนถ้วย จูลส์ ริเมต์ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบราซิลไปแล้ว ทัวร์นาเมนต์ในแดน "อินทรีเหล็ก" ถูกบันทึกไว้ว่าต้องลงเล่นท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย และสนามแข่งขันที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่ คาร์ลอส คาสเซลี่ กองหน้าทีมชาติอุรุกวัย กลายเป็นผู้เล่นคนแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ที่ถูกใบแดงไล่ออกจากสนาม
1978 อาร์เจนตินา
ชาติเจ้าภาพ "อาร์เจนตินา" สร้างประเด็นข้อขัดแย้งขึ้นมาเมื่อจัดโปรแกรมให้ทีมของตัวเองลงเล่นในช่วงค่ำหลังจากทีมอื่นทุกนัดในรอบแรก ซึ่งสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นที่มาที่ทำให้ ฟีฟ่า ต้องกำหนดข้อบังคับในเวลาต่อมาว่าเกมนัดสุดท้ายของรอบแรก ทุกทีมต้องลงสนามเล่นในเวลาเดียวกัน
1982 สเปน
เป็นครั้งแรกที่การแข่งขันรอบสุดท้าย เพิ่มจำนวนทีมเป็น 24 ทีม และกลายเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่ในรอบสุดท้ายมีทีมตัวแทนจากทวีปต่างๆ ครบทั้ง 6 ทวีป
ทีม "อัซซูรี่" อิตาลี สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกไปครองเป็นสมัยที่ 3 ห่างจากหนก่อนยาวนานถึง 44 ปี นอกจากนี้ยังทำสถิติเหลือเชื่อผ่านรอบแรกมาโดยไม่ชนะใครเลย ทำได้แค่เสมอกับคู่แข่งทั้ง 3 เกม ขณะที่ ดิโน่ ซอฟฟ์ นายทวารกัปตันทีมก็สร้างสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่ลงเล่นใน เวิลด์ คัพ รอบสุดท้าย ในวัย 40 ปี
1986 เม็กซิโก
ในหนนี้ โคลอมเบีย ถูกเลือกให้ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพ ทว่าด้วยพิษเศรษฐกิจทำให้ให้ต้องขอถอนตัวไป และ เม็กซิโก ซึ่งเพิ่งเป็นเจ้าภาพไปเมื่อ 8 ปีก่อน ได้รับหน้าเสื่อแทน
สำหรับ เวิล์ด คัพ 86 ไม่มีอะไรให้น่าจดจำมากไปกว่าเหตุการณ์ "หัตถ์พระเจ้า" ของ ดีเอโก้ มาราโดน่า ที่ส่งให้ อาร์เจนตินาก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์โลกสมัยที่ 2
1990 อิตาลี
ศึก อิตาเลีย 90 ทำสถิติเป็นทัวร์นาเมนต์ เวิลด์ คัพ มีมีประตูเฉลี่ยต่อเกมต่ำที่สุดแค่ 2.21 ประตู รวมถึงมีการแจกใบแดงแบบไม่อั้นกันถึง 16 ใบ ขณะที่ เปโดร มอนซอน กองหลังของทีม "ฟ้า-ขาว" อาร์เจนตินา กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่โดนไล่ออกในเกมชิงชนะเลิศ
ฟุตบอลโลกที่อิตาลีหนนี้ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ฟีฟ่า ได้ออกกฎห้ามส่งบอลคืนหลังให้ผู้รักษาประตู, เปลี่ยนให้ทีมชนะในรอบแบ่งกลุ่มได้ 3 คะแนน ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้มีการเล่นเกมรุกกันมากขึ้น
1994 สหรัฐอเมริกา
ฟุตบอลโลก 1994 สร้างประวัติศาสตร์เป็นการแข่งขันที่มีผู้เข้าชมในสนามมากที่สุด เฉลี่ยเกือบ 69,000 คนต่อเกม รวมกว่า 3.6 ล้านคน และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้พิมพ์ชื่อผู้เล่นไว้ด้านหลังเสื้อแข่งด้วย
1998 ฝรั่งเศส
การแข่งขันเพิ่มทีมในรอบสุดท้ายเป็น 32 ทีมครั้งแรก และกลายเป็นหนที่ 2 ที่ชาติเจ้าภาพ เป็นทีมที่คว้าแชมป์ไปครอง
2002 เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น
เดิมที เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ต่างก็ลงแข่งขันแย่งสิทธิ์กันเป็นเจ้าภาพพร้อมกับ เม็กซิโก แต่ก่อนตัดสินไม่นาน เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นก็ประกาศร่วมทีมกันเสนอตัว และทำให้ได้รับคะแนนเสียงไปอย่างเอกฉันท์ ทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในทวีปเอเชีย และมีสองชาติเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
2006 เยอรมนี
ฟุตบอลโลก 2006 ได้ชื่อว่ามีผู้ชมผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากที่สุด รวมถึง 26.29 พันล้านครั้ง และนับเฉพาะเกมชิงชนะเลิศ มีแฟนบอลนั่งติดตามการแข่งขันผ่านหน้าจอทีวีถึง 715.1 ล้านคน
เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้อีกครั้งก็คือความผิดพลาดของ เกรแฮม โพลล์ ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ ที่แจกใบเหลืองให้ โจซิป ซิมูนิช กองหลังทีมชาติโครเอเชียถึง 3 ครั้ง โดยที่ไม่ได้ให้ใบแดงไล่ออกจากสนามตั้งแต่ในครั้งที่ 2
2010 แอฟริกาใต้
เวิลด์ คัพ 2010 เป็นครั้งแรกที่ชาติเจ้าภาพ มีอันต้องจอดป้ายแค่รอบแรก ขณะที่ ทีมชาติอังกฤษ, เยอรมนี และ อิตาลี เป็น 3 ทีมที่ใช้ผู้เล่นซึ่งค้าแข้งอยู่ในประเทศตัวเองทั้งหมด ขณะที่ ไนจีเรียไม่มีผู้เล่นที่เล่นในประเทศเลยแม้แต่คนเดียว
2014 บราซิล
เป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลก ถูกจัดขึ้นนอกทวีปยุโรปเป็นหนที่ 2 ติดต่อกัน และการแข่งขันที่บราซิลหนนี้ ยังจะมีการนำ "โกล์-ไลน์ เทคโนลียี" มาใช้เป็นครั้งแรกด้วย หลังจากที่ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงหาบทสรุปไม่ได้มานาน